ประวัติสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม
ก่อนที่จะเป็น สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ในยุคปัจจุบันนี้ ย้อนกลับไปเมื่อ ปี พ.ศ. 2445 ในขณะนั้น สยาม มีพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ซึ่งกำหนดรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์แบบมหาเถรสมาคม ที่ประกอบด้วยเจ้าคณะใหญ่ และเจ้าคณะรอง บริการกิจการคณะสงฆ์ โดยมี เจ้ากระทรวงธรรมการ และเจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ เป็นฝ่ายที่จะช่วยอุดหนุนการดำเนินการต่างๆ ต่อมาเมื่อมีการตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ขึ้น มหาเถรสมาคม ได้ถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นสังฆสภาคณะสังฆมนตรีและคณะวินัยธร ในขณะนั้นกรมการศาสนา ทำหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสังฆสภาและสำนักงานเลขาธิการคณะสังฆมนตรี เรื่อยมา จนกระทั่งได้มีการตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 (ประกอบพระราชกฤษฎีกา แก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 พ.ศ. 2545) กฎหมายจึงกำหนดให้ "ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ" เป็น "เลขาธิการมหาเถรสมาคม" โดยตำแหน่ง และให้ "สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ" ทำหน้าที่ "สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม"
จากพัฒนาการของกฎหมายที่ใช้บริหารกิจการพระพุทธศาสนาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2445 เป็นต้นมาจะเห็นได้ว่าฝ่ายศาสนจักรดำเนินกิจการปกครองสังฆมณฑล โดยมีฝ่ายอาณาจักรคอยสนองงานและสนับสนุนการดำเนินงานเสมอมา ปัจจุบัน กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ข้อ 3 ก. (7) กำหนดให้สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม เป็นหน่วยงานราชการบริหารส่วนกลาง ในสังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ